หลายปีมาแล้วที่นักวิชาการชาวตะวันตกระบุว่าคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชนเผ่าป่าเถื่อน (barbarians) โดยเชื่อว่าภูมิภาคนี้ไม่มีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมโดดเด่นเกิดขึ้น จนกระทั่งพ่อค้าและพระภิกษุชาวอินเดียเดินทางมาถึง นักวิชาการชาวตะวันตกจึงกำหนดศัพท์เฉพาะขึ้น ใช้เรียกภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเห็นว่า ภูมิภาคนี้เป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย คำจำกัดความดังกล่าวได้แก่ อินเดียไกล (l’Inde exterieure) อินเดียน้อย (Greater India) และรัฐแบบอินเดีย (The Indianised States)
ผลการขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งดำเนินการครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วทำให้นักวิชาการสลัดความคิดข้างต้นออกไปจนหมดสิ้น ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาต่างก็เห็นพ้องกันว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่มีเอกลักษณ์รูปแบบทางอารยธรรมโดดเด่นเป็นของตนเองอย่างแท้จริง
หลักฐานที่นักโบราณคดีขุดค้นพบคือสิ่วหิน (chisels) อันเป็นเครื่องมือซึ่งพวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ (nomads) ใช้กันเมื่อประมาณ 800,000 - 600,000 ปีมาแล้วที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางและโครงกระดูกของมนุษย์โฮโมอิเรคตัส (Homo Erectus คนเดินเหยียดหลังตรงพวกแรก)ขุดพบในเกาะชวา
เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคไพลสโตซีน (Pleistocene period ประมาณสองล้านถึงหนึ่งแสนปีมาแล้ว) ในขณะนั้นเกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ รวมทั้งหมู่เกาะของมาเลเซีย และอินโดนีเซียยังมิได้แยกตัวออกไปจากแผ่นดินใหญ่ หลักฐานอื่นๆ ก็ชี้ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่สำคัญครั้งแรก เกิดขึ้นประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อมีคน อพยพจากจีนและดินแดนอื่นๆ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคทางใต้ คนที่เข้ามาใหม่มิได้ขับไล่คนพื้นเมืองออกไป หากแต่ได้แทรกซึมเข้าไปสู่ชุมชนพื้นเมือง(Indigenous Communities) ทีละน้อย
หลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบในจีนตอนใต้และเวียตนามเหนือ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้ให้เห็นว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักเทคโนโลยีการทำสำริดมาเป็นเวลานานถึง 3,500 ปีแล้ว
ภาพกลองมโหระทึก (kettledrum) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย พบที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านขนาดเล็กเมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว ทำให้เชื่อกันว่าความชำนาญในการทำเครื่องมือเครื่องใช้สำริดเหล่านี้ถูกส่งผ่านเข้ามาจากมณฑลสีฉวน (Sichuan) และยูนนานของจีน
ภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี รูปคนกำลังใช้กลองมโหระทึกประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ
รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเชื่อว่า เคยมีการอพยพครั้งใหญ่ของคนจากจีนมายังประเทศไทยผ่านเวียตนามเมื่อประมาณ 3,500 ปี รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเรียกผู้อพยพกลุ่มนั้นว่า “นักเผชิญโชค” และ”พ่อค้า”ที่เข้ามาแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ จำพวกแร่ธาตุและของป่า
ขณะนั้นดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันเป็นแหล่งผสมผสานของชนพื้นเมือง (ethnic groups)อันประกอบด้วยชาวไต สยาม มอญและอินเดีย เทคโนโลยีที่ผู้อพยพนำมาและพัฒนาขึ้นใน”บ้านใหม่”ของพวกเขาคือ ความรู้ในการหลอมโลหะและการทำสำริด ต่อมาภายหลังจึงรู้จักการทำเครื่องมือเหล็ก อาวุธเหล็ก และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากเหล็ก
นับเป็นเวลาประมาณ 2,500 ปี มาแล้วที่หมู่บ้านขนาดใหญ่ระยะแรกๆ หลายแห่งในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งตั้งถิ่นฐานชุมชนเหล่านี้ถูกปกครองโดยหัวหน้าหมู่บ้าน สินค้าหลักของพวกเขามิใช่ข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ หากแต่เป็นโลหะจำพวกทองแดงและเหล็ก ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนจากส่วนในของภูมิภาคเอเฃียตะวันออกเฉียงกับนักเดินเรือต่างชาติทำให้หมู่บ้านเหล่านี้ขยายตัวขึ้นเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
หลักฐานชี้ให้เห็นว่าเมืองขนาดใหญ่ยุคแรกๆ ของภาคพื้นส่วนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทย และในที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลองทางด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การค้าขายจึงเกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าอินเดียและจีนกับคนพื้นเมืองในเวียตนาม ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันเรียกว่า พวกซาฮุยน์หฺ-ดองซอน (Sa Huynh – Dong Son)
มหากาพย์รามายณะ (The Ramayana epic) และนิทานชาดก (Jataka เรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เขียนโดยชาวอินเดีย) เรียกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า สุวรรณภูมิ (Land of Gold) นิทานหลายเรื่องในพระชาดก (รวมทั้งเรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชนิพนธ์อีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้) กล่าวถึงการเดินทางไปสู่ดินแดนสุวรรณภูมิอันถูกพรรณนาถึงในแง่ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคนทุกเชื้อชาติอยากจะเดินทางไปติดต่อค้าขาย
จากหลักฐานที่รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมกล่าวถึง ปรากฏว่าบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว
รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เชื่อว่า พระภิกษุชาวอินเดียสองรูปคือ พระโสณะเถระ และพระอุตตรเถระ ซึ่งถูกพระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่ศาสนาพุทธในสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราชนั้น อาจมาขึ้นฝั่ง ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลองนั่นเอง ดังนั้นเมื่อสุวรรณภูมิเป็นจุดหมายหลักของบรรดาพ่อค้าต่างชาติเช่นนี้แล้ว คณะเผยแพร่ศาสนาพุทธของพระโสณะและพระอุตตระจึงมิใช่อาคันตุกะรายเดียวในขณะนั้นของภูมิภาคนี้
รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมระบุว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช และทำให้มีการค้าขายของ พ่อค้าต่างชาติมากมายเกิดขึ้นในย่านนี้ ปฏิสัมพันธ์ข้างต้นจึงทำให้เกิดพัฒนาการของศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ การปกครองระบบกษัตริย์ ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับภารตะ(คืออินเดีย) และความหลากหลายของพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อทางศาสนาที่นำเข้ามาเผยแพร่เหล่านี้ ได้ส่งอิทธิพลอย่างเด่นชัดต่อสังคมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีความระมัดระวังต่อการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญมากเกินไปของอารยธรรมอินเดียในภูมิภาคนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือก่อนที่พระภิกษุและพ่อค้าชาวอินเดียจะเดินทางมาถึงนั้น คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีอารยธรรมซึ่งได้พัฒนาการไปอย่างช้าๆ ตามวิถีของตนอยู่แล้ว
การติดต่อกับอินเดียจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากมิได้รับอนุญาตจากหัวหน้าชุมชนชาวพื้นเมืองซึ่ง ดูเหมือนว่าผู้นำเหล่านี้จะตัดสินใจเลือกรับเอาศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ(ทั้งนิกายมหายาน และนิกายเถรวาท) ที่เห็นว่าเหมาะสมกับสังคมและความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขามากที่สุด ลัทธิการนับถือปรากฏการณ์ธรรมชาติ (Animism)ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความเชื่อหลักที่คล้ายๆกับสังคมแรกเริ่มอื่นๆในโลก ภาพเขียนสีในถ้ำและเพิงผาจำนวนมากซึ่งถูกค้นพบในประเทศไทย ล้วนถูกทำขึ้นก่อนการเข้ามาของอารยธรรมอินเดียทั้งสิ้นเราจะพบว่าในภาพเขียนบางแห่งมีรูปหัวหน้าชุมชนกำลังประกอบพิธีกรรมติดต่อกับบรรดาภูตผีและเทพเจ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเรื่องเล่าเก่าแก่พื้นเมืองกล่าวถึง พญานาค หรืองูศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน รวมทั้งร่องรอยความเชื่ออื่นๆที่เกี่ยวกับการนับถือธรรมชาติแบบโบราณ ปรากฎให้เห็นในพิธีสักการะเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลเกษตรกรรม คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด มีความเชื่อคล้ายกันเรื่องอำนาจอันเป็นอมตะของเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผู้ควบคุมจักรวาล โลก สิ่งมีชีวิตและภูตผีทั้งหมด ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นจากการตกแต่งประดับประดากลองมโหระทึกสำริด ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในรัฐเถียน (Tian State ใกล้กับทะเลสาบคุนหมิง) ในมณฑลยูนนานของจีน เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช กลองมโหระทึกสำริดเหล่านี้ถูกนำจากจีนมายังเวียตนามทางเหนือ เข้าสู่ตอนกลางแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะใกล้เคียงในเวลาต่อมาตามลำดับ
ในประเทศไทย กลองสำริดเหล่านี้รู้จักกันในชื่อกลองมโหระทึก หรือกลองสำริด มีลายจำหลักรูปกบ รูปสัตว์ 12 ราศี และรูปจำหลักคล้ายดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง เชื่อกันว่ากลองมโหระทึก เป็นสิ่งที่จะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผู้นำของชุมชนผู้ซึ่งสามารถติดต่อกับเทพเจ้าแห่งท้องฟ้าโดยตรง และกลองมโหระทึกก็มักจะถูกฝังไว้กับศพของหัวหน้าชุมชนด้วยเมื่อเขาตายลงไป
ภาพโครงกระดูกของมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือสำริดและเครื่องมือเหล็กถูกขุดพบร่วมกับภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้สำริดและเหล็ก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนการเข้ามาของพระภิกษุและพ่อค้าชาวอินเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น